วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

พระพุทธศาสนาในประเทศฝรั่งเศส

จากสำรวจในปี พ.ศ.2546      พบว่า ชาวฝรั่งเศสประมาณ 62% นับถือศาสนาคริสต์ และ 26% ไม่มีศาสนา (no religion)  นอกจากนี้มีชาวฝรั่งเศสอยู่ถึง 74% ที่ไม่เชื่อเรื่องพระเจ้า (atheists, unlikely) และ Gallup International รายงานว่า มีชาวฝรั่งเศสเพียง 15% เท่านั้น ที่เข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาเป็นประจำ การนับถือศาสนาจึงเป็นเพียงในนามเสียเป็นส่วนใหญ่ขาดการปฏิบัติตามหลักศาสนา ส่วนพระพุทธศาสนานั้นปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 334 ศูนย์ บ้างก็เป็นวัด บ้างเป็นศูนย์ปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ และศูนย์กิจกรรมทางพระพุทธศาสนาต่างๆ ส่วนใหญ่จะเป็นนิกายมหายานโดยเฉพาะสายทิเบตและเซน
         พระพุทธศาสนาในฝรั่งเศสเริ่มต้นโดย ยูยิน เบอร์นูฟ (Eugene Bernouf) นักเขียนวรรณกรรมตะวันออกคนสำคัญของฝรั่งเศส ยูยิน เบอร์นูฟเขียนและพิมพ์เผยแพร่หนังสือพระพุทธศาสนาชื่อ Essai sur le Pali ในปี พ.ศ.2369 อาจกล่าวได้ว่า ยูยิน เบอร์นูฟ เป็นบิดาแห่งพระพุทธศาสนาคดีศึกษาในทวีปยุโรป ทั้งนี้เพราะก่อนหน้านี้ ภาษาบาลีไม่มีใครในตะวันตกรู้จักและเข้าใจว่า เป็นภาษาอะไร สำคัญอย่างไร ยูยิน เบอร์นูฟ ได้ศึกษาคัมภีร์พระพุทธศาสนาที่ บี.เอช.ฮอดสัน (B.H.Hodgson) ขณะดำรงตำแหน่ง British Resident-General ในประเทศเนปาล หนังสือพระพุทธศาสนานิกายมหายานของยูยิน เบอร์นูฟ เล่มที่ชาวยุโรปรู้จักกันดีที่สุดคือ หนังสือประวัติศาสนาพระพุทธศาสนาในอินเดีย (Introduction a Historie du Buddhisme Indien) ซึ่งพิมพ์เผยแพร่ในปี พ.ศ.2387 
         นอกจากฝรั่งเศสจะมีนักปรัชญาศาสนาแล้วยังมีนักศึกษาพุทธศิลป์ที่สำคัญที่สุดอยู่ท่านหนึ่งคือ เอ.ฟูเชอร์(A.Foucher) บุคคลผู้นี้เขียนหนังสือพุทธศิลป์เผยแพร่ถึง 7 เล่ม  หนังสือเล่มที่ 1 พิมพ์ในกรุงปารีส ปีพ.ศ.2439 ชื่อ Les  Scenes Figureers de la legende de Bouddha หลังจากนั้นในปี พ.ศ.2448 เขาเขียนหนังสือพุทธศิลป์สมัยคุปตะ ชื่อ Lart grecobouddhique du Gandhara และในปี พ.ศ.2460 เอ.ฟูเชอร์ พิมพ์หนังสือชื่อ The Beginnings of Buddhist Art and Other Essays ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
         พุทธศาสนิกชนชาวฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงมากในอดีตคือ อเล็กซานดรา เดวิด-นีล (Alexandra David neel) ผู้มีจิตใจเด็ดเดี่ยว อดทน ไม่ย่นย่อต่อความยากลำบากใดๆ ใช้ชีวิตอยู่ในทิเบตนานปี แต่งกายแบบชาวทิเบต รับประทานอาหารทิเบต ดำรงชีวิตเรียบง่ายแบบชาวทิเบต จนเป็นผู้เชี่ยวชาญภาษาทิเบตและพระพุทธศาสนาทิเบต เธอกล่าวว่า ถ้าหากว่า สตรีเพศมิใช่เพศต้องห้ามสำหรับสมณเพศของทิเบตแล้ว ข้าพเจ้าคงบวชเป็นสมณะ ปฏิบัติธรรมในวัดทิเบตได้สมบูรณ์แบบแน่นอน เธอเขียนหนังสือพระพุทธศาสนาเผยแพร่ 15 เล่ม เป็นภาษาฝรั่งเศส 10 เล่ม ภาษาเยอรมัน 5 เล่ม  เช่น หนังสือ Buddhism, Its Doctrines and Methods, หนังสือ My Journey to Lhasa, With Mystics and Magicians, หนังสือ  Tibetan Journey  เป็นต้น หนังสือทุกเล่มของอเล็กซานดรา เดวิด-นีล ได้รับการแปลเป็นภาษาโปแลนด์ สวีเดน เชกโก-สโลวาเกีย และภาษาสเปน
         อเล็กซานดรา เดวิด-นีล เขียนบทความเรื่อง Buddhism and Social Problems ลงพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Buddhist Review ที่กรุงลอนดอน ฉบับประจำเดือนกรกฎาคม-กันยายน พ.ศ.2453 มีใจความตอนหนึ่งว่า "จงเชื่อในความเชื่อที่ว่า ตัวท่านต้องยอมรับในสิ่งที่เป็นจริงและมีเหตุผลถูกต้อง...จงอย่าเชื่อสิ่งใดที่เป็นอำนาจของคนอื่น...การกระทำที่มีผลคือการกระทำที่ท่านได้วิเคราะห์ถูกต้องแล้ว และได้ปรากฏชัดว่า สามารถปฏิบัติได้ตามหลักเหตุผล นำไปสู่ สวัสดิภาพของตนเองและคนอื่น...ท่านจงเป็นประทีปให้แก่ตนเองเถิด (และ) พระพุทธเจ้าตรัสสั่งสอนว่า ขอท่านทั้งหลาย จงท่องเที่ยวไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่มหาชนด้วยจิตเมตตาเถิด...พระบรมครูของเราตรัสไว้ดังนี้..ชัดเจนยิ่งนัก ไม่ต้องมัวเสียเวลาอภิปรายความหมายของพระดำรัสนี้อีกต่อไป จงไปเถิด ไปเพื่อประโยชน์และเพื่อความสุขของมหาชน..."
          ในปี พ.ศ.2472 นางสาวคอนสแตนท์  เลาร์เบอรี่ (Constant Lounsbery) นางพยาบาล ชาวอเมริกันได้จัดตั้งพุทธสมาคมฝรั่งเศส (Les Amis du Buddhisme) สมาคมนี้เผยแผ่พระพุทธศาสนาเถรวาท พลังจูงใจสำคัญที่ผลักดันให้เธอตั้งพุทธสมาคมฝรั่งเศสขึ้นก็คือ เธอได้ พบความทุกข์ยากของคนไข้จึงทำให้เธอสนใจศึกษาพระพุทธศาสนาจากคัมภีร์ภาษาบาลีและปฏิบัติสมาธิทุกวัน วันละหลายชั่วโมง เผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วยการสอนในชั้นเรียน บรรยาย เขียนบทความและเขียนหนังสือ เช่น หนังสือ Buddhist Meditation เป็นหนังสือที่แพร่หลายมากในยุโรปและอเมริกา พุทธสมาคมฝรั่งเศสได้ออกวารสารรายปักษ์ชื่อ La Pensee Buddhique แต่เป็นที่น่าเสียใจยิ่งนักที่พุทธสมาคมฝรั่งเศสได้ยุติกิจการลงในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2512
         นอกจากนี้ ยังมีปราชญ์ชาวพุทธฝรั่งเศสอีกหลายท่านที่อุทิศตนในงานพระพุทธศาสนา เช่น ซิล เวียน เลวี (Sylvain Lavi)  กล่าวได้ว่า ในอาณาจักรการศึกษาพระพุทธศาสนามหายานนั้น เขาไม่เป็นสองรองใคร มีความรู้ลึกซึ้งในภาษาจีน ทิเบต และภาษา Kuchean  ซิลเวียน เลวี ได้จัดทำคัมภีร์พระพุทธศาสนาไว้หลายคัมภีร์ เช่น คัมภีร์ธรรมบท และคัมภีร์ษฏปัญจาศติกะสโตตระ (พ.ศ.2355) หนังสือ Le Nepal (พ.ศ.2450) เป็นต้น หลุยส์ เดอ ลา วัลลี ปุสซิน (Louis De La Vallee Poussin) ศิษย์ของซิลเวียน เลวี เป็นปราชญ์คนสำคัญอีกคนหนึ่งใน   พระพุทธศาสนามหายาน  ได้จัดทำคัมภีร์พระพุทธศาสนามหายานหลายคัมภีร์ เช่น ปัญจกรรม (พ.ศ.2439) ปรสันนปทา (พ.ศ.2446 - 2456) มหานิเทศ (พ.ศ.2459-2460) เป็นต้น ในประเทศฝรั่งเศสนั้นไม่มีความตายของหนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เพราะมีการค้นคว้าอย่างต่อเนื่อง สถาบันการศึกษาระดับแนวหน้าทั้งหลายของประเทศฝรั่งเศส เช่น มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ ยอมจ่ายเงินมหาศาลในการวิจัยพระพุทธศาสนา ส่งผลให้ชาวฝรั่งเศสสนใจพระพุทธศาสนามากขึ้นเรื่อยๆ
          ปัจจุบันผู้ที่มีชื่อเสียงมากในฝรั่งเศสและในตะวันตกคือ ติช นัท ฮันห์ (Thich Nhat Hanh) พระภิกษุนิกายเซนชาวเวียดนาม ซึ่งปักหลักเผยแผ่พุทธธรรมอยู่ ณ หมู่บ้านพลัม (Plum Village) ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส ท่านอุทิศชีวิตเพื่อส่งเสริมแนวคิดความเมตตากรุณาและการไม่ใช้ความรุนแรง ประยุกต์พุทธศาสนาเพื่อรับใช้สังคมจนได้รับการขนานนามว่าเป็น "บิดาแห่งพระพุทธศาสนาเพื่อสังคม" (Engaged Buddhism) ท่านเขียนหนังสือมากกว่า 100 เล่ม ตีพิมพ์เผยแพร่ไปทั่วโลกกว่า 1,500,000 เล่ม เจมส์ ชาฮีน บรรณาธิการนิตยสารพระพุทธศาสนา ชื่อ ไตรไซเคิล (Tricycle) กล่าวว่า ในประเทศตะวันตก ท่านคือสัญลักษณ์ ผมไม่คิดว่าจะมีพุทธศาสนิกชนในโลกตะวันตกคนไหนที่ไม่รู้จัก ติช นัท ฮันห์
         ท่านติช นัท ฮันห์  สร้างสถานที่ปฏิบัติธรรมคือหมู่บ้านพลัมขึ้นในปี พ.ศ.2525 ปัจจุบันมีพระภิกษุอาศัยอยู่ประมาณ 150 รูป นอกจากนี้ยังมีแม่ชีและผู้รักในการปฏิบัติธรรมพักอยู่จำนวนมาก ในช่วงภาคฤดูร้อนของแต่ละปีจะจัดโครงการปฏิบัติธรรม มีผู้เข้าร่วมโครงการประมาณ 1,000 คน เป็นชาวเวียดนามประมาณ 500 คน และชาวตะวันตกอีกประมาณ 500 คน นอกจากนี้ยังได้ขยายสาขาออกไปมากมายทั่วตะวันตก
         ความโดดเด่นในคำสอนและท่วงทำนองการเขียนหนังสือของท่านติช นัท ฮันห์ อยู่ที่การทำให้ประจักษ์ว่า การปฏิบัติธรรมสามารถกระทำได้ในทุกขณะเวลา ไม่จำเป็นว่าต้องไปที่วัดหรือแสวงหาสถานที่เพื่อสร้างความสงบภายใน  การอธิบายธรรมะของท่านเข้าใจง่ายเหมาะสม กับยุคสมัย เช่น เรื่องศีล 5 ท่านมีความเห็นว่า ศีล 5 เป็นของเก่าแก่มาก พวกเรารู้สึกว่า มันควรได้รับการพูดเสียใหม่ ในความหมายที่เข้าใจได้ง่ายขึ้นสำหรับคนในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนหนุ่มสาวในตะวันตก ถ้าคุณบอกว่า "อย่าทำอย่างนั้น อย่าทำอย่างนี้" ผู้คนก็ไม่ชอบ เพราะเขารู้สึกว่ากำลังถูกบังคับ การถือศีลก็คือการปกปักษ์รักษาตัวคุณเอง คนที่คุณรักและสังคม นี่คือเหตุผลว่าทำไม ความกรุณาจึงเป็นศีลข้อแรกที่เข้ามาแทนการห้ามเข่นฆ่า และศีลอีก 4 ข้อ ก็เป็นไปในลักษณะเดียวกัน
         นอกจากนี้ ท่านยังเห็นว่าผู้คนทั้งหลายที่มีความทุกข์ ก็เพราะเขาเข้าไปเกี่ยวข้องกับมิติด้านลบ กับสิ่งที่ผิดพลาดมากเกินไป พวกเขาไม่ได้สัมผัสสิ่งที่ไม่ผิดพลาดอย่างเพียงพอ ท่านยกตัวอย่างคนที่มีความทุกข์เพราะเจ็บป่วยว่า ให้มองเข้าไปในตัวของผู้ป่วยและค้นหาสิ่งที่ดีๆ โดยการสัมผัสสิ่งเหล่านั้นและทำให้มันเบ่งบานขึ้นมา ตื่นขึ้นมาในตอนเช้า คุณสามารถระลึกรู้ว่า ฉันมีชีวิตอยู่ และมีเวลา 24 ชั่วโมงเพื่อใช้ชีวิตเพื่อเรียนรู้ มองสรรพชีวิตด้วยสายตาแห่งความกรุณา ถ้าหากคุณระลึกว่าคุณมีชีวิตอยู่ และคุณมีเวลา 24 ชั่วโมงเพื่อที่จะสร้างความสุขใหม่ๆ ขึ้นมา เท่านี้ก็อาจจะเพียงพอที่จะทำให้คุณมีความสุข และผู้คนที่อยู่รอบข้างคุณก็มีความสุข นี่คือการปฏิบัติเพื่อความสุข
         ท่านติช นัท ฮันห์ เป็นผู้ที่รักการปฏิบัติธรรม แม้จะมีงานมากแต่ก็ให้เวลาสำหรับการปฏิบัติธรรมมากที่สุด ท่านกล่าวว่า อาตมามีเวลามากโขให้ตัวเอง นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ธรรมชาติของอาตมาก็คือ ไม่ชอบทำให้ผู้คนผิดหวัง และเป็นเรื่องยากเมื่อต้องบอกปฏิเสธคำเชื้อเชิญต่างๆ แต่อาตมาก็เรียนรู้ในข้อจำกัดของตัวเอง เรียนรู้ที่จะปฏิเสธ และรู้จักที่จะหลีกเร้นไปสู่อาศรมของตัวเอง เพื่อมีเวลาสำหรับเดินจงกรม นั่งเจริญภาวนา มีเวลากับการทำสวน อยู่กับดอกไม้และสิ่งต่างๆ เหล่านี้ อาตมาไม่ได้ใช้โทรศัพท์มาถึง 25 ปีแล้ว ตารางเวลาของอาตมานั้นอิสระ ไร้กฎเกณฑ์เป็นสิทธิพิเศษ บางครั้งอาตมาก็นึกถึงบาทหลวงคาธอลิกในประเทศเนเธอร์แลนด์ท่านหนึ่งที่ต้องเฝ้าโทรศัพท์อยู่ตลอดเวลา อาตมาถามว่า ทำไมท่านถึงต้องทำเช่นนั้น ท่านบอกว่า ผมไม่มีสิทธิเลิกติดต่อกับประชาชนของผม ในกรณีนี้จำเป็นต้องมีผู้ช่วย นั่นเพราะว่าคุณไม่สามารถช่วยเหลือผู้อื่นต่อไปได้เรื่อยๆ หากคุณไม่ดูแลตัวเอง ความสงบมั่นคงของคุณ อิสรภาพของคุณ ความสุขของคุณ เป็นเรื่องสำคัญยิ่งต่อคนอื่นๆ การดูแลตัวเองอย่างดีจึงเป็น  เรื่องสำคัญมาก 
         ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและการปฏิบัติธรรมท่านมุ่งเน้นความเป็นทีมหรือสังฆะ ท่านกล่าวว่า การสร้างสังฆะนั้นสำคัญอย่างยิ่งยวด หากคุณอยู่โดยปราศจากสังฆะ คุณจะละทิ้งการปฏิบัติไปอย่างรวดเร็ว ธรรมเนียมของเรากล่าวว่า ปราศจากสังฆะคุณก็เป็นเหมือนเสือโคร่งที่ละทิ้งดงดอยมาอยู่พื้นราบ ซึ่งที่สุดจะถูกพวกมนุษย์จับฆ่า ดังนั้นการสร้างชุมชนสังฆะ จึงเป็นสิ่งแรกที่คุณต้องทำ นี่คือสิ่งที่พวกเราพูดย้ำกระตุ้นเตือนเสมอเวลามีการอบรมสมาธิภาวนา อย่างในวันสุดท้ายของการอบรม เราจะจัดให้มีช่วงของการสร้างชุมชนสังฆะ เราบอกว่าสิ่งแรกที่ควรจะทำเมื่อกลับไปถึงบ้านหลังจากเสร็จการอบรม ก็คือการสร้างสังฆะขึ้นมา เพื่อให้การปฏิบัติต่อเนื่องไปได้ ถ้าตัวคุณแวดล้อมไปด้วยชุมชน คุณจะมีโอกาสนั่งร่วมกัน เดินร่วมกัน ได้เรียนรู้ร่วมกัน คุณก็จะไม่ทิ้งการปฏิบัติ มิฉะนั้นในเวลาแค่ 2 - 3 สัปดาห์ หรือไม่กี่เดือน     คุณจะทอดทิ้งมันไป และคุณจะไม่พูดถึงมันอีกเลย .


11 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ23 กรกฎาคม 2554 เวลา 20:07

    เป็น blog ภาษาฝรั่งเศส และแปลภาษาฝรั่งเศสที่ดีจริงๆครับ

    ตอบลบ
  2. องค์กร​ทางพระพุทธศาสนาหรือพุทธสมาคมในประเทศฝรั่งเศสและประเทศรัสเซีย​ เช่น
    มีใครตอบได้มั้ง?

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ไม่ระบุชื่อ18 พฤษภาคม 2565 เวลา 09:21

      Les Amis du Buddhismeคาดว่าน่าจะใช่

      ลบ
    2. ไม่ระบุชื่อ18 พฤษภาคม 2565 เวลา 09:32

      คำถามเหมือนกันตอบไม่เป็น

      ลบ
    3. ไม่ระบุชื่อ28 พฤษภาคม 2565 เวลา 20:39

      ทำไมคำถามเดียวกันวะ

      ลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ18 พฤษภาคม 2565 เวลา 09:31

    ดีชิบหาย

    ตอบลบ
  4. ยาวโพด

    ตอบลบ